วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

กฎหมายธุรกิจด้านออนไลน์


ภาพโดย
กลุ่ม KM SYSTEM section 005
   เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนวิชา 954260 KM SYSTEM

กฎหมายธุรกิจด้านออนไลน์

           ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่าง มาก จนปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1.8 พันล้านคน และคาดว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยกว่า 21 ล้านคน ซึ่งยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่รุดหน้า ทั้งระบบโทรคมนาคม ระบบคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ทำให้การสื่อสารกันเป็นไปได้โดยง่าย และสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้หลายระดับ อีกทั้งยังสามารถโต้ตอบกันได้ทันที ทำให้สามารถเสนอธุรกรรมที่หลากหลาย เช่น การชื้อขาย การบริการหลังการขาย การโอนเงินชำระค่าบริการสินค้า การขนส่ง เป็นต้น ดังนั้น การหันมาทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง


ธุรกิจออนไลน์         

             ธุรกิจออนไลน์ หรือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: Electronic commerce) หรือ อีคอมเมิร์ซ(e-Commerce)  หมายถึง การทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในทุกๆ ช่องทางที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อินเทอร์เน็ต และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถกระทำผ่าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ การโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การโฆษณาในอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งซื้อขายออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร โดยการลดบทบาทของความสำคัญขององค์ประกอบทางธุรกิจลง เช่น ทำเลที่ตั้ง อาคารประกอบการ โกดังเก็บสินค้า ห้องแสดงสินค้า รวมถึงพนักงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า พนักงานต้อนรับลูกค้าเป็นต้น ดังนั้นจึงลดข้อจำกัดของระยะทางและเวลา ในการทำธุรกรรมลงได้

    การประกอบธุรกิจต้องติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลจำนวนมาก และการประกอบธุรกิจก็มีหลายประเภท ทั้งการผลิต การซื้อขาย และการบริการ ดังนั้นจึงมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง มีทั้งกฎหมายหลักที่ครอบคลุมการประกอบการทุกประเภท เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น และมีกฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่น พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ร.บ.บัญชี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องศึกษากฎหมายที่ตนเกี่ยวข้องให้เข้าใจ เพื่อความมั่นใจในการประกอบการ และความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในที่นี้จะกล่าวถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ที่จำเป็นต้องทราบพอสังเขป ผู้ประกอบธุรกิจควรสนใจศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของตนไว้ด้วย


กฎหมายนิติกรรม

หลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำไปใช้ทุกๆ เรื่องของกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะนิติกรรมเป็นความผูกพันทางกฎหมายโดยเจตจำนงของผู้ทำนิติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาต่างๆ เช่น ซื้อขาย แลกเปลี่ยน เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จำนอง จำนำ ฯลฯ เพื่อให้นิติกรรมนั้นๆ สมบูรณ์ ถูกต้อง และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ย่อมต้องอาศัยหลักนิติกรรมนี้ไปใช้ทั้งสิ้น หลักเกณฑ์ต่างๆ ในการทำนิติกรรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญอย่างยิ่

ความหมายและหลักเกณฑ์สำคัญของนิติกรรม
นิติกรรมหมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิหรือที่เรียกรวมๆ กันว่า การเคลื่อนไหวในสิทธิ” (มาตรา 149)
ทั้งนี้ ผู้ที่ทำนิติกรรมจะต้องมี ความสามารถในการทำนิติกรรมด้วย

หลักเกณฑ์สำคัญของนิติกรรม
1. ต้องมีการแสดงเจตนากระทำ กล่าวคือมีการกระทำที่แสดงออกมาถึงความประสงค์ของตนที่มีอยู่ในใจ ซึ่งอาจแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้
2. ต้องกระทำโดยสมัครใจ หมายความว่า เป็นการแสดงเจตนาโดยอิสระ ปราศจากการข่มขู่ ล่อลวง ฉ้อฉล หรือหลอกลวงให้สำคัญผิดใดๆ ถ้าสมัครใจแล้วแม้จะตกลงให้ได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไรก็ใช้ได้
3. มุ่งให้มีผลผูกนิติสัมพันธ์ (ผูกพัน) ทางกฎหมาย หมายความว่า ต้องการให้มีผลบังคับจริงจัง หากอีกฝ่ายไม่ยอมปฏิบัติตาม ผลในทางกฎหมายนี้ถือการเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 ประเภท อันได้แก่ ก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือการระงับสิทธิ
4. เป็นการทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ได้ทำลงโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของนิติกรรม ความสามารถของบุคคล ตลอดจนถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้


ประเภทของนิติกรรม
นิติกรรม แบ่งเป็นประเภทใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่
1. นิติกรรมฝ่ายเดียว เช่น การทำพินัยกรรม คำมั่นต่างๆ การปลดหนี้ การตั้งมูลนิธิ การบอกสัญญา นิติกรรมฝ่ายเดียวนี้ย่อมมีผลตามกฎหมาย แม้จะยังไม่มีผู้รับก็ตาม
2. นิติกรรมสองฝ่าย หรือสองฝ่ายขึ้นไป ทำให้เกิดสัญญา หรือข้อตกลงต่างๆ เช่น สัญญาซื้อขาย เป็นต้น


กฎหมายสัญญา

สัญญาเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการตกลงกันระหว่างบุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปทำให้เกิดมีความเป็นเจ้าหนี้ และลูกหนี้ที่มีหน้าที่ต่อกัน
สัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อมีคำเสนอและคำสนองสอดคล้องถูกต้องตรงกัน (คำเสนอคือการแสดงเจตนาของการทำสัญญา ส่วนคำสนองคือการตอบรับตามคำเสนอนั้นเท่านั้น สัญญาจึงเกิดขึ้น)

ประเภทของสัญญา
สัญญาอาจแบ่งได้หลายประเภท แต่ที่ใช้บ่อยๆ ได้แก่
1. สัญญาต่างตอบแทนกับสัญญาไม่ต่างตอบแทน สัญญาต่างตอบแทนหมายถึงสัญญาที่ต่างฝ่ายต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน หรือต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์แก่กันเป็นการตอบแทน เช่น สัญญาซื้อขาย ฝ่ายผู้ซื้อได้ทรัพย์สินที่ได้ซื้อ ส่วนผู้ขายได้เงินเป็นการตอบแทน
สัญญาไม่ต่างตอบแทนหมายถึง สัญญาที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เช่น สัญญาให้ผู้รับจะได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
2. สัญญามีค่าตอบแทน (มีบำเหน็จ) กับสัญญาไม่มีค่าตอบแทน (ไม่มีบำเหน็จ)“สัญญามีค่าตอบแทนหมายถึง สัญญาที่ทำให้คู่สัญญาต่างมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนซึ่งกันและกันอาจจะเป็นทรัพย์สินแรงงาน หรือประโยชน์อื่นใดก็ได้ เช่น นายหน้า
สัญญาไม่มีค่าตอบแทนหมายถึง สัญญาที่ไม่มีค่าบำเหน็จตอบแทน เช่น สัญญาตัวแทน
3. สัญญาประธานกับสัญญาอุปกรณ์ เป็นการแบ่งโดยพิจารณาในแง่การเกิดขึ้นและความเป็นอยู่ของสัญญารวมทั้งความสมบูรณ์ของสัญญาสัญญาประธานหมายถึง สัญญาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ได้โดยลำพังไม่ขึ้นกับสัญญาอื่นใด ความสมบูรณ์ของสัญญาพิจารณาจากตัวสัญญานั้นเองเท่านั้น เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญายืม เป็นต้น
สัญญาอุปกรณ์หมายถึง สัญญาที่ไม่สามารถเกิดขึ้น และเป็นอยู่ได้โดยลำพังตนเอง นอกจากสัญญาอุปกรณ์จะต้องสมบูรณ์ตามหลักความสมบูรณ์ของตัวเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธานอีกด้วย เช่น สัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง สัญญาจำนำ เป็นต้น
4. เอกเทศสัญญา หมายถึง ลักษณะของสัญญา วัตถุประสงค์ ผลทางกฎหมาย รวมตลอดถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาในสัญญาแต่ละประเภทไว้โดยเฉพาะ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 22 ลักษณะ เช่น เอกเทศสัญญา ว่าด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้ เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ เป็นต้น


กฎหมายหนี้
หนี้ ได้แก่ นิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่าลูกหนี้มีหน้าที่ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเจ้าหนี้หรือหมายความถึงการที่คู่สัญญาต่างฝ่ายต่างต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกันได้แก่
1) กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
2) กระทำการละเว้นกระทำการ
3) กระทำการส่งมอบทรัพย์สิน
ลักษณะสำคัญของหนี้ ประกอบด้วย
1. มีนิติสัมพันธ์ อันเป็นความผูกพันในทางกฎหมาย เช่น นิติกรรม
2. มีเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อชำระหนี้ให้ตามความผูกพันทางกฎหมาย
3. มีวัตถุแห่งหนี้ คือกระทำการ งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์สิน แล้วแต่คู่กรณีจะได้ตกลงกันไว้
บ่อเกิดแห่งหนี้
หนี้มีสาเหตุหรือบ่อเกิดแห่งหนี้ที่สำคัญคือ
นิติกรรมสัญญาเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเกิดจากเจตนาของบุคคลซึ่งเป็น
สาเหตุแห่งการเป็นหนี้มากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาที่มีชื่อเฉพาะในเอกเทศสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เช่น สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ


กฎหมายซื้อขาย

ความหมายของสัญญาซื้อขาย
ซื้อขาย  หมายถึง  สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย 

ลักษณะของสัญญาซื้อขาย
1. สัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมสองฝ่ายต้องใช้หลักทั่วไปของสัญญา(คำเสนอ  คำสนองฯ) หลักทั่วไปของนิติกรรม(วัตถุประสงค์ , เจตนาลวง , นิติกรรมอำพราง , กลฉ้อฉล , ข่มขู่ , สำนึกผิด)  หลักทั่วไปของเรื่องบุคคล(ความสามารถ)
2. บุคคลสองฝ่ายตกลงกันที่จะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์
3. สัญญาซื้อขายมุ่งที่จะโอนกรรมสิทธิ์(วัตถุประสงค์หรือประโยชน์สุดท้าย)
4. เป็นสัญญาต่างตอบแทน เช่น        แดงขายที่ดินให้ดำราคา  100,000
 แดง(ในฐานะลูกหนี้)          ส่งมอบที่ดิน
 ดำ(ในฐานะลูกหนี้)
            ชำระราคา
 แดง(ในฐานะเจ้าหนี้)
         เรียกให้ชำระราคา
 ดำ(ในฐานะเจ้าหนี้)           เรียกให้ส่งมอบที่ดิน
       
   
ประเภทของสัญญาซื้อขาย
1. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  คือ  สัญญาซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงกันเป็นที่เสร็จสิ้น  ไม่มีแบบพิธีอันใดที่จะต้องไปทำเพิ่มเติมกันอีก  เช่น  นายแดงทำสัญญาซื้อขายโทรศัพท์มือถือจากนายดำในราคา 5,000  บาท  เช่นนี้เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  เพราะได้ตกลงซื้อขายกันจนกรรมสิทธิ์โอนไปเป็นของนายแดงแล้ว  ส่วนปัญหาว่าจะส่งมอบโทรศัพท์กันเมื่อไหร่เป็นเรื่องของการชำระหนี้
 2. สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข
มาตรา  459 บัญญัติว่า  ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข....ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข....”  หมายถึง  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดซึ่งนำเอาเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอนว่าจะเกิด ขึ้นหรือไม่มาเป็นตัวกำหนดว่ากรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้ซื้อ จนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข
1.  เงื่อนไขบังคับก่อน
2.  เงื่อนไขบังคับหลัง
มีการซื้อขายเกิดขึ้นแล้ว  เพียงแต่มีเงื่อนไขเป็นตัวการประวิงเวลาการโอนสิทธิออกไป  เช่น  นายแดงตกลงซื้อรถยนต์จากนายดำ  โดยตกลงกันว่าให้นายแดงรับรถไปจากนายดำได้เลย  แต่กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้ชำระราคาเสร็จ
3. สัญญาซื้อขายมีเงื่อนเวลา
มาตรา  459  บัญญัติว่า  ถ้าสัญญาซื้อขายมี...เงื่อนเวลาบังคับไว้  ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตาม...กำหนดเงื่อนเวลานั้น...”  หมายถึง  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  แต่กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปจนกว่าจะถึงกำหนดตามเวลา
-     สัญญาจะยังไม่โอนไปจนกว่าฝนจะตก.........?
-     สัญญาจะยังไม่โอนไปจนกว่าจะถึงเที่ยงคืน....?
4. สัญญาจะซื้อจะขาย
 มาตรา  456  วรรคสอง  บัญญัติว่า อนึ่ง สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใดๆ...ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำ(มัดจำ)ไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่”  หมายถึง  สัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง  ซึ่งคู่สัญญาได้ทำสัญญาเอาไว้ต่อกันฉบับหนึ่งว่าจะไปทำสัญญาซื้อขายให้สำเร็จตลอดไป  โดยการทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด  คือ  การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายภาคหน้า


บทสรุป

            ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์จึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมาย กฎหมายที่ยกมาอธิบายพอสังเขปนี้ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจด้านออนไลน์ที่ผู้เขียนมีความคิดว่าจำเป็นที่ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ควรทราบ เนื่องจากเป็นกฎหมายพื้นฐานในการทำธุรกิจคือ กฎหมายนิติกรรม เป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำไปใช้ทุกๆ เรื่องของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะนิติกรรมเป็นความผูกพันทางกฎหมายโดยเจตจำนงของผู้ทำนิติกรรม กฎหมายสัญญา เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากความตกลงของระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีคำเสนอ คำสนอง ที่ตกต้องตรงกัน กฎหมายหนี้ เมื่อบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปได้ทำสัญญาต่อกันก็จะจึงเกิดหนี้ระหว่างบุคคลนั้น ซึ่งมีฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกหนี้ ที่จะต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง กฎหมายซื้อขาย ธุรกิจออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขาย ที่บุคคลมีทำการซื้อขายสิ่งต่างๆบนอินเตอร์เน็ต จะมีผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งมีหน้าที่ชำระหนี้ต่อกัน ตามนิติกรรสัญญาที่มีการตกลงซื้อขายบนอินเตอร์เน็ต
            ธุรกิจออนไลน์ เป็นรูปแบบของการกระทำธุรกิจรูปแบบหนึ่ง กฎหมายที่ใช้นั้นจึงนำกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจมาใช้บังคับโดยเทียบเคียง เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการประกอบธุรกิจออนไลน์ ที่จะกำหนดสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิดต่างที่ได้กระทำบนอินเตอร์เน็ต ดังนั้น จึงต้องนำกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาบังคับใช้กับธุรกิจออนไลน์



เอกสารอ้างอิง

หนังสือ
สุณี ตันติอธิมงคล. (2549). กฎหมายธุรกิจ. สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์. (2552). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ :
            ซีเอ็ดยูเคชั่น      
เวปไซด์
สราวุธ นิติวัฒนะ. ความรู้พื้นฐานทางกฎหมายธุรกิจ. วันที่ค้นข้อมูล 11 มกราคม 2557, เวปไซด์ :
การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์. วันที่ค้นข้อมูล 11 มกราคม 2557, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เวปไซด์ :
            http://th.wikipedia.org/wiki/การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

กฏหมายน่ารู้ของโลกออนไลน์ (ตอนที่ ๑). วันที่ค้นข้อมูล 11 มกราคม 2557, จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรม

ทางอิเล็กทรอนิกส์ เวปไซด์ : http://www.etda.or.th/etda_website/content/background-and-mission.html

สราวุธ นิติวัฒนะ. ความรู้พื้นฐานทางกฎหมายธุรกิจ. วันที่ค้นข้อมูล 11 มกราคม 2557, เวปไซด์ :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น